แมว: จำเลยโรคท็อกโซพลาสโมซิส ? ผศ.สพ.ญ.ดร. วรพร สุขุมาวาสี
หน่วยปรสิตวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ในบรรดาโรคสัตว์สู่คนที่คนสามารถติดต่อจากแมวได้ โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือโรคขี้แมวเป็นโรคที่ถูกขนานนามมากที่สุดโรคหนึ่ง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มักได้ยินคำเตือนว่าควรระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจผิดไม่น้อยเกี่ยวกับโรคและบทบาทของแมวในการก่อโรคในคน เราลองมาทำความรู้จักโรคนี้กันนะคะ
1. โรคท็อกโซพลาสโมซิสมีสาเหตุจากอะไร
โรคท็อกโซพลาสโมซิสมีสาเหตุจากการติดเชื้อ Toxoplasma gondii ซึ่งเป็นเชื้อปรสิตที่มีเซลล์เดียว (โปรโตซัว)
2. เหตุใดจึงพบเชื้อ Toxoplasma gondii ได้เกือบทุกภูมิภาคของโลก
เชื้อ T. gondii เป็นปรสิตที่สามารถปรับตัวได้เก่งมาก อีกนัยหนึ่ง คือ เชื้อแทบจะไม่ทำให้เกิดโรคที่ชัดเจนในโฮสต์ที่ติดเชื้อ (หากโฮสต์ภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง) อีกทั้งมีวงชีวิตที่สามารถเจริญได้ในสัตว์เลือดอุ่นเกือบทุกชนิด เช่น สัตว์เลี้ยง
สัตว์ป่า สัตว์ปีก
3. เชื้อ Toxoplasma gondii เกี่ยวข้องกับแมวอย่างไร
แมวและสัตว์ตระกูลแมวเป็นโฮสต์แท้ (definitive host) ซึ่งหมายความว่าเชื้อต้องอาศัยทางเดินอาหารของแมวในการ
ทำให้วงชีวิตสมบูรณ์ เมื่อแมวกินเชื้อระยะติดโรค (sporulated oocyst จากสิ่งแวดล้อมหรือ cyst ในเนื้อเยื่อจากโฮสต์
กึ่งกลาง) เข้าไปแล้ว เชื้อจะมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ แล้วปล่อยไข่ (oocyst) ปนออกมากับอุจจาระของแมว
4. อุจจาระของแมวที่มีไข่ของเชื้อ Toxoplasma (oocyst) จะทำให้สัตว์อื่นรวมทั้งคนติดเชื้อได้ทันทีหรือไม่
ติดต่อไม่ได้ทันที เพราะตัวอ่อนภายใน oocyst ต้องใช้เวลา 1-5 วันในการพัฒนาแบ่งตัวให้เป็นระยะติดโรค
(sporulated oocyst) ซึ่งต้องอาศัยอุณหภูมิ ความชื้น และออกซิเจนในระดับที่เหมาะสม
5. แมวมีบทบาทสำคัญต่อการติดเชื้อ Toxoplasma ในคนหรือไม่
ถึงแม้ว่าแมวมีความสำคัญในวงชีวิตและระบาดวิทยาของการติดเชื้อ Toxoplasma แต่แมวมักไม่มีบทบาทสำคัญต่อ
การติดเชื้อในคน เพราะสาเหตุหลักของการติดเชื้อในคนมักมาจากการบริโภคเนื้อดิบ หรือปรุงไม่สุกที่มีซีสต์ของเชื้ออยู่
เช่น เนื้อสุกร
6. เหตุใดแมวจึงมีบทบาทสำคัญทางระบาดวิทยาในการแพร่กระจายของเชื้อ Toxoplasma
แมวที่กินเชื้อระยะติดโรคเข้าไป จะสามารถผลิตไข่ของเชื้อปนออกมากับอุจจาระได้หลายล้านฟอง ซึ่งทำให้สิ่ง
แวดล้อมมีการปนเปื้อนเชื้อ อีกทั้ง oocyst มีความทนทานอยู่รอดได้ในดินหรือน้ำเป็นเวลานานกว่า 18 เดือนสัตว์ต่างๆ
รวมทั้งคนสามารถติดเชื้อได้จากการ กินน้ำหรืออาหารที่มี oocyst ที่พัฒนาแล้ว
7. Toxoplasma ก่อโรคในแมวหรือไม่
ถึงแม้ว่าการติดเชื้อ Toxoplasma แทบจะไม่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคในแมว อาการป่วยที่พบได้ในบางครั้ง ได้แก่ มีไข้
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปอดบวมทำให้หายใจลำบาก ตาอักเสบ ตับอักเสบทำให้มีภาวะดีซ่าน อาการทางระบบประสาท
เช่น ชัก สั่น ส่วนอาการที่พบไม่บ่อย เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต อาเจียน ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ
8. หากแมวมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่แข็งแรง การติดเชื้อ Toxoplasma จะทำให้เกิดปัญหาได้หรือไม่
เช่นเดียวกับในคน หากภูมิคุ้มกันไม่สามารถตอบสนองต่อการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื้อสามารถแพร่กระจาย
ไปตามอวัยวะต่างๆ และทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงของอวัยวะภายใน และมีอาการผิดปกติได้
9. ถ้าแมวที่ตั้งท้องอยู่แล้วติดเชื้อ Toxoplasma จะมีปัญหากับลูกในท้องเหมือนกับในคนหรือไม่
หากแม่แมวไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อมาก่อน การติดเชื้ออาจทำให้แท้งหรือลูกแมวตายแรกคลอดได้
10. แมวที่มีความเป็นอยู่แบบใดที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Toxoplasma
แมวที่ใช้ชีวิตอิสระสามารถออกไปนอกบ้าน ชอบล่าเหยื่อ เช่น นก หนู และแมวที่กินเนื้อดิบหรือปรุงไม่สุก จะมีความ
เสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ
11. การตรวจอุจจาระแมวเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการวินิจฉัยการติดเชื้อ Toxoplasma ในแมวหรือไม่
โอกาสที่จะพบแมวกำลังปล่อยไข่ (oocyst) ของเชื้อออกมาในอุจจาระมีน้อย เนื่องจากใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์หลัง
จากกินเชื้อเข้าไป และแมวมักไม่ปล่อย oocyst ซ้ำหลังจากมีการติดเชื้อครั้งถัดๆ ไป หรือปล่อยออกมาจำนวนน้อยมาก
ดังนั้น หากตรวจพบ oocyst ใน อุจจาระถือว่าจังหวะดีมาก แต่อย่างไรก็ตาม ขนาดและรูปร่างของ oocyst ของ
Toxoplasma ก็คล้ายคลึงกับ oocyst ของเชื้อโปรโตซัวชนิดอื่น (Hammondia และ Besnoitia) ซึ่งทำให้วินิจฉัยยืนยัน
ได้ยาก การตรวจทางซีรั่มวิทยาจึงเป็นที่นิยมกว่า
12. การเลี้ยงแมวหรือลูบขนแมวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Toxoplasma หรือไม่
งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการสัมผัสแมวหรือการเป็นเจ้าของแมว ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ T. gondii
ในคนเพราะโอกาสน้อยที่จะพบแมวที่เคยติดเชื้อแล้วปล่อย oocyst อยู่ และตรวจไม่พบ oocyst บนขนแมวแม้ว่าแมวตัวนั้นอยู่ในช่วงปล่อย oocyst ก็ตาม อย่างไรก็ตาม เด็กที่เล่นดินหรือทรายที่อาจมี oocyst ปนเปื้อนอยู่ จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
13. เจ้าของแมวสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Toxoplasma จากแมวได้อย่างไร
คำแนะนำดังต่อไปนี้ จะทำให้เจ้าของลดความกังวลจากการติด oocyst ระยะติดโรคจากแมวได้
1) คนที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น หญิงตั้งครรภ์ คนที่มีภูมิคุ้มกันถูกกดหรือไม่แข็งแรง เด็กเล็ก)
ไม่ควรสัมผัสหรือจัดการกระบะทรายแมว
2) การจัดอุจจาระแมวจากกระบะเป็นประจำทุกวัน โดยสวมถุงมือ และล้างมือให้สะอาดหลังจาก
ทำความสะอาดกระบะทรายเสร็จแล้ว
3) รองกระบะทรายด้วยแผ่นรอง และทำความสะอาดกระบะทรายเป็นครั้งคราวด้วยน้ำ
ยาทำความสะอาดและลวกน้ำร้อน (ซึ่งสามารถฆ่า oocyst ได้)
4) กำจัดอุจจาระและทรายแมวอย่างปลอดภัย โดยใส่ในถุงพลาสติกและมัดให้แน่น ก่อน
นำไปใส่ในถังขยะ
5) ปิดกระบะทรายที่ใช้สำหรับเด็กเล่นเมื่อไม่ใช้ เพื่อป้องกันแมวมาถ่าย
6) อาหารสำหรับแมวต้องปรุงสุก หรือให้อาหารสำเร็จรูป
7) สวมถุงมือเมื่อทำสวน และล้างมือให้สะอาดเมื่อสัมผัสกับดิน
8) ล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนและหลังเตรียมอาหาร และล้างผักผลไม้ก่อนรับประทาน
9) ดื่มน้ำที่ต้มสุกหรือกรองแล้ว
โดยสรุป ความเสี่ยงต่อการติดโรค toxoplasmosis จากแมวสู่คนนั้นมีน้อยมาก และคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อมักได้รับเชื้อจากทางอื่น (เช่น ทานเนื้อดิบหรือไม่ปรุงสุก) การดูแลด้านสุขอนามัยเป็นประจำทุกวัน สามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากทั้งแมวและแหล่งอื่นได้ ทำให้เจ้าของแมวมีความปลอดภัยและมีความสุขกับการเลี้ยงแมวได้